ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาคงจะเป็นช่วงที่นักศึกษาจบใหม่หลายคนรอคอยนั่นคือ “การรับปริญญา” ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสัญญะบางอย่างสำหรับการจบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และที่กล่าวไปว่าเป็นการ “รอคอย” ไม่ได้ถึงหมายการเข้าพิธีมอบปริญญาบัตรเพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายหลักของการมารับปริญญาอีกต่อไป ทุกคนที่มาร่วมงานต่างก็มาเพื่อแสดงความยินดีกับผู้ที่เรียนจบ แสดงความคิดถึงต่อเพื่อนร่วมรุ่น และกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหลังจากที่ต้องแยกย้ายกันไปเผชิญชีวิตอันเลวร้ายในวัยทำงานภายใต้เงื่อนไขของตลาด-เสรี(?) ซึ่งไม่ได้มีเวลามาพบปะกับมิตรสหายเหมือนในสมัยเรียน
มาถึงตรงนี้ใครหลายคนที่เพิ่งเรียนจบมาหมาด ๆ และกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือได้เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วอาจจะได้กลิ่นและเห็นภาพของตัวเองที่ไร้ความมั่นคงและกำลังเผชิญกับเงื่อนไขต่าง ๆ ของตลาดแรงงานแบบเสรีนิยมใหม่ เช่น สัญญาจ้างงานระยะสั้น ช่วงทดลองงานที่ถูกใช้งานเกินหน้าที่ของตำแหน่งที่ตนได้ยืนสมัครเข้าไป และข้ออ้างอีกสารพัดของบริษัทนายจ้างที่พร้อมจะใช้งานลูกจ้างให้ได้มากที่สุดและลดต้นทุนที่ตนต้องแบกรับให้เหลือน้อยที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพจิตใจและร่างกายของผู้ถูกจ้าง อีกกรณีหนึ่งที่สามารถพบเจอได้คือ การเปลี่ยนงานทำที่บ่อยของคนรุ่นใหม่ในแง่หนึ่งอาจจะมองได้ว่านี่เป็นเสรีภาพในการเลือกงานทำหรือหางานที่เหมาะสมกับตนเอง แต่ความเป็นจริงที่ใครหลายคนต้องเผชิญคือ นี่ไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริงแต่นี่คือการไร้ตัวเลือก เพราะเมื่อเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานพวกเขาจะไร้อำนาจในการต่อรองกับนายจ้างทันที หรือบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่จริงแล้วตนนั้นสามารถรวมตัวต่อรองกับนายจ้างได้ ทางเดียวที่ตลาดแรงงานเสรีมอบให้พวกเขาเพื่อจะสามารถหนีออกจากการโดนเอาเปรียบและขูดรีดได้คือ การลาออกไปหางานใหม่ที่คาดหวังว่าจะดีกว่าที่เดิม ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรมาเป็นตัวการันตีว่าที่ทำงานใหม่จะดีกว่าที่เก่า จะเห็นได้ว่าสภาวะที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญนั้นคือ การเป็น “แรงงานเสี่ยง” โดยลักษณะของความเสี่ยงที่ต้องเผชิญมีอยู่ 4 แบบ ได้แก่ 1.งานที่ไม่มั่นคงในเรื่องของสัญญาจ้าง รวมไปถึงเวลาการทำงานที่มาสามารถคาดเดาได้ 2.งานที่ทำค่าจ้างต่ำ หรือไม่มีโอกาสในการยกระดับค่าแรง 3.การฝึกงานที่ไร้ค่าแรง และไม่ได้การรับรองจากกฎหมายแรงงานหากถูกนายจ้างเอาเปรียบ 4.ขาดอำนาจในการต่อรองหรือความไม่มีเสถียรภาพของสหภาพแรงงาน ต้องเท้าความกลับไปด้วยว่าสาเหตุที่เกิดงานเสี่ยงหรือกลายเป็นแรงงานเสี่ยง ไม่ใช่เหตุบังเอิญแต่เป็นความจงใจทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
โดยตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ที่มีการทำลายรัฐสวัสดิการในประเทศแถบยุโรป โดยถูกแทนทที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เปิดให้กลุ่มทุนมีอำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระ ปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สหภาพแรรงานมีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างและรัฐน้อยลง จนในที่สุดในบางประเทศสหภาพแรงงานถูกทำให้หายไป เราจะเห็นสภาพสะท้อนนี้ได้ชัดในประเทศไทยที่ไร้ทั้งรัฐสวัสดิการ สภาพแรงงานถูกทำให้อ่อนแอ รวมไปถึงการไร้อำนาจต่อรองกับนายจ้างที่นักศึกษาจบใหม่ต้องเจอเมื่อเข้าตลาดแรงงาน อีกทั้งเราจะเห็นการรวมตัวของแรงงานเพื่อเรียกร้องให้รัฐคืนความเป็นธรรมจากการถูกเอาเปรียบจากนายจ้างหรือ การต้องแบกรับภาระที่เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่บริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว แต่สิ่งที่รัฐทำก็คือ การเมินเฉยหรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดและล่าช้า อีกทั้งยังปล่อยให้กลุ่มลูกจ้างเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนที่มีอำนาจมากกว่าทั้งในทางกฎหมายและทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีน้อยครั้งหรือแทบจะไม่มีเลยที่ลูกจ้างจะชนะนายจ้างในชั้นศาล หรือลูกจ้างเลือกที่เลี่ยงการฟ้องนายจ้าง เพราะมองว่ามีโอกาสชนะน้อยเสียทั้งเงินและเวลา จึงเลือกทางที่ง่ายกว่านั่นคือ “ลาออก”
เพื่อขยายชีวิตที่นักศึกษาจบใหม่ต้องเผชิญเมื่อต้องก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะขอยกบทสัมภาษณ์บางส่วนที่ได้ไปทำการสัมภาษณ์นักศึกษาจบใหม่ที่อยู่ในช่วงทำงานมาสรุปให้ผู้อ่านได้เห็น เริ่มด้วยสิ่งที่ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนกล่าวตรงกันว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงเริ่มทดลองงาน (ช่วงโปร) ทางนายจ้างยังจะไม่ยื่นสัญญาจ้างให้จนกว่าจะผ่านช่วงการทดลองงานไป ซึ่งในช่วงนี้งานที่ได้รับมอบหมายจะไม่มีความชัดเจน กล่าวคือผู้ให้สัมภาษณ์ต่างก็ได้ทำงานเกินตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเงินเดือนที่ได้รับก็เป็นจำนวนที่ไม่สมเหตุสมผลกับการที่พวกเขาถูกให้ทำงานเกินหน้าที่ มีผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ตนใกล้ได้รับการต่อสัญญาจ้าง ได้เกิดปัญหาสุขภาพที่กระทบต่อการทำงานจึงขอลาหยุดเพื่อไปรักษาตัว แต่เมื่อใกล้ถึงช่วงต่อสัญญาจ้างกลับถูกยกเลิกสัญญาจ้างทั้งที่อีกเพียง 2 วันจะทำงานครบ 1 ปี โดยที่นายจ้างไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ต่อสัญญา และอีกสิ่งที่ต้องเผชิญร่วมกันสำหรับนักศึกษาจบใหม่เมื่อต้องไปทำงานกับบริษัทเอกชนนั่นก็คือ เวลาการทำงานที่ไม่แน่นอนและบางที่ให้ทำงานถึง 6 วัน แต่กลับให้วันลาหยุดพักร้อนน้อยจนน่าตกใจ ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มที่จบจากสายที่ต้องทำงานเชิงสร้างสรรค์จะยิ่งเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น กล่าวได้ว่าชีวิตการทำงานของนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องเผชิญคือ การทำงานที่กินเวลาชีวิตจนไม่สามารถมีเวลาว่างไปทำในสิ่งตนเองชอบ เพราะแค่ทำงานอย่างเดียวพวกเขาก็เหนื่อยแล้ว ถึงจะมีเวลาพักบ้างก็ไม่ได้มีแรงให้ไปทำอย่างอื่นต่อ ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งที่นักศึกษาจบใหม่ต้องเผชิญ พวกเขายังต้องทนแบกรับการจับจ้องและความกดดันของสังคมในที่ทำงานและนอกที่ทำงาน ยกตัวอย่างคือ การเลิกงานตรงตามเวลา ซึ่งจะถูกคนในที่ทำงานมองว่าไม่ขยันหรือเอาเปรียบคนอื่น ทั้งที่ความเป็นจริงก็สมเหตุสมเหตผลที่คนทำงานสามารถหยุดทำงานเมื่อหมดเวลาการทำงาน แต่ในสังคมไทยการทำงานล่วงเวลากลายเป็นวัฒนธรรมที่น่าเชิดชูสำหรับคุณค่าของปัจเจกบุคคล โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์ในการที่จะมีสิทธิเลิกงานตรงเวลาเพื่อพักผ่อน หรือในกรณีที่อยู่ในช่วงว่างงานคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวก็มักจะกดดันให้รีบงานหาทำงาน หรือในช่วงที่ว่างงานหลายเดือนหลายคนจะเกิดอาการรู้สึกว่าตนนั้นไร้ค่า และรวมไปถึงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่บีบให้คนนักศึกษาจบใหม่ต้องเร่งหางานทำ ความกดดันที่มาจากปัจจัยภายนอกที่กล่าวไปข้างต้น ได้ส่งผลกระทบไปถึงภายในจิตใจอย่างที่ใครหลายคนไม่อาจเลี่ยงได้นั้นคือ ความเครียดสะสม มากกไปกว่านั้นคือการเป็นโรคซึมเศร้าที่มักพบมากขึ้นในคนรุ่นใหม่
ส่วนสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาจำนวนมากและไม่เคยถูกแกไขอย่างจริงจังนั่นคือ ปัญหาการเป็นหนี้ผูกพันของการกู้ยืม ก.ย.ศ. แต่ตั้งเป็นนักเรียนนักศึกษายันเรียนจบมีงานทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ เพราะการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึ่งจะได้รับ และในเมื่อเป็นสิทธิก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่สร้างภาระให้กับผู้เรียนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาหลายคนจากการเป็นหนี้ ก.ย.ศ. ที่ไม่สมเหตุสมผลคือการต้องเก็บชั่วโมงบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งไม่ได้ต่างอะไรจากการถูกใช้แรงงานฟรี อีกทั้งในเมื่อเรียนจบก็ต้องทำงานใช้หนี้อยู่ดี ซึ่งการต้องใช้หนี้ผ่อนผัน ก.ย.ศ หลังเรียนจบก็เป็นปัญหาอย่างมากเช่นกัน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในการชำระหนี้แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ร้อยละ 0.5-1 ต่อปี ซึ่งสวนทางกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นของนักศึกษาจบใหม่ รวมไปถึงอัตราเงินเดือนที่น้อยและไม่มั่นคงสำหรับดำรงชีวิต ซึ่งการเป็นหนี้ก็เป็นกลไกลทางอำนาจที่สำคัญของระบบทุนนิยมที่จะคอยควบคุมให้ผู้ที่เป็นหนี้ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานรับใช้ตัวทุนนิยมเพื่อให้ตัวระบบสามารถดำเนินการต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนหากไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็จะมีกลไกลของรัฐประชาชาติ (ในที่นี้หมายกฎหมาย) ที่จะเข้ามาจัดการกับผู้ที่เป็นหนี้ โดยไม่สนใจปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เข้ามากระทบต่อผู้ที่เป็นหนี้จากการกู้ยืม
พออ่านมาถึงจุดนี้หลายท่านอาจจะมีข้อโต้แย้งในใจหรืออาจเคยได้ยินคำกล่าวประเภทที่ค่อยบอกให้ “ต้องรู้จักจักปรับตัวเรียนรู้จะได้ประสบความสำเร็จ” “พยายามอดทนให้มากกว่านี้หน่อยสิ” หรือ “อย่าทำตัวเป็นพวกขี้แพ้” ซึ่งคำพูดเหล่านี้ควรถูกตั้งคำถามอย่างจริงว่า จริงหรือไม่ ภายใต้การแข่งขันอย่างเสรีของระบบทุนนิยมหากปัจเจกสามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสของตลาดจะสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ หรือแท้จริงแล้วคำกล่าวอ้างเหล่านี้เป็นเพียงมายาคติที่บดบังเพื่อไม่ให้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับรัฐ นายจ้าง นายทุน รวมไปถึงตัวระบบทุนนิยมเอง สาเหตุที่กล่าวแบบนี้เป็นเพราะแท้จริงแล้วกลไกลของอุดการณ์เสรีนิยมใหม่ที่ครอบงำความคิดของผู้คนส่วนมากนั้นพยายามที่จะเน้นคุณค่าของความเป็น “ปัจเจกชน” ที่ต้องแข่งขันกันเพื่อความสำเร็จ และจะโทษแต่ตนเองเมื่อล้มเหลว ฉะนั้นคนเรามักจะนำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือถูกคนอื่นนำไปเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานของสังคมที่เชิดชูคนที่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้ตนตัวของนักศึกษาจบใหม่ถูกประเมินคุณค่าอยู่ตลอดเวลาภายใต้ ตรรกะของทุนนิยม จึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนนั้นต้องแข่งขันกับผู้อื่นหรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือแข่งขันกับตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ขึ้นไปอยู่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคมทุนนิยม จึงนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศที่จะต้องมีความกระตือรือร้น ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงและการบริหารงานของรัฐบาลที่ปล่อยให้ผู้คนต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้คนแข่งขันกันอย่างหนักข้อสนใจแต่เรื่องของตนเองเอาเวลาทั้งหมดไปลงกับงาน และละเลยการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตไป อีกทั้งยังเป็นเรื่องยากที่ปัจเจกบุคคลจะสามารถมีชีวิตที่ดีด้วยตนเองได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะอย่าลืมว่าภายใต้ระบบทุนนิยมที่เสรีแต่ชื่อนั้น ได้ตีกรอบไว้แล้วว่างานที่นักศึกษาจบใหม่ต้องทำมีกี่ประเภทที่จะสามารถทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ พร้อมกับความปรารถนาลวงที่ระบบทุนนิยมทำออกมาในรูปแบบการบริโภคเชิงสัญญะ ประหนึ่งว่าเป็นถ้ามีของชิ้นนี้ที่สามารถหาเงินมาซื้อได้ด้วยตนเอง แล้วตนเองนั้นจะดูประสบความสำเร็จจากสายตาคนอื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นความภูมิใจ ๆ เล็กที่ไม่ต้องขอเงินจากผู้ปกครอง ความปรารถนาลวงนี้เป็นอะไรชั่วครั้งชั่วคราวมีแต่จะทำให้เราติดกับดักการขูดรีดตนเองอย่างไม่มีวันจบสิ้น แต่หากพิจารณาให้ดี แน่นอนมนุษย์ทุกคนย่อมมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นฉะนั้นเพื่อที่จะตอบสนองต่อความปรารถนาที่แท้จริงคงไม่มีวิธีไหนที่ดีไปกว่าการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องให้เกิดรัฐสวัสดิการ เพื่อที่เราทุกคนจะได้มีชีวิตดีที่ไม่ต้องขูดรีดตนเองเพื่อสนองความคาดหวังจากมาตรฐานแบบเสรีนิยมใหม่ มีตัวเลือกให้กับชีวิต ได้ทำตามความต้องการของตนเอง และไปสู่สังคมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น